วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

การพัฒนาการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจโดยใช้เทคนิค KWL plus

บทคัดย่อ

ชื่องานวิจัย การพัฒนาการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจโดยใช้เทคนิค KWL plus  

วิชาภาษาอังกฤษพื้นฐาน  อ 33101  ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3  

ผู้รายงาน นางสุวดี  สดแสนรัตน์

ตำแหน่ง ครู  วิทยฐานชำนาญการ  โรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ  อำเภอวารินชำราบ  จังหวัดอุบลราชธานี


การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุปะสงค์เพื่อ  

1) พัฒนาและหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะเพื่อพัฒนาการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจโดยใช้เทคนิค KWL plus  ตามเกณฑ์ 75/75  

2) หาค่าดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะเพื่อพัฒนาการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจโดยใช้เทคนิค KWL plus  

3) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านก่อนและหลังเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะเพื่อพัฒนาการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจโดยใช้เทคนิค KWL plus  

4) ศึกษาความสามารถด้านทักษะการเขียนหลังเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านเพื่อความเข้าใจโดยใช้เทคนิค KWL plus  

5) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3  ที่มีต่อการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจโดยใช้เทคนิค KWL plus 


กลุ่มตัวอย่าง  คือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3/3  โรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ  ภาคเรียนที่  2  ปีการศึกษา  2551  จำนวน  48  คน  ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบง่าย  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบฝึกทักษะเพื่อพัฒนาการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจโดยใช้เทคนิค KWL plus  แผนการจัดการเรียนรู้ประกอบการใช้แบบฝึกทักษะเพื่อพัฒนาการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจโดยใช้เทคนิค KWL plus  แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐานที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นซึ่งมีค่าความเชื่อ .94  มีค่าความยาก .27-.72  มีค่าอำนาจจำแนกระหว่าง .36-.73  แบบประเมินทักษะการเขียนของผู้เรียนมีค่าเฉลี่ย  4.45  และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนมีค่าเฉลี่ย  4.09  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้แก่การวิเคราะห์ค่าเฉลี่ย () ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)  ค่าความถี่  ค่าร้อยละ (%) และการทดสอบค่า t


ผลการวิจัยพบว่า

1. ประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะเพื่อพัฒนาการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจโดยใช้เทคนิค KWL plus  วิชาภาษาอังกฤษพื้นฐาน  อ  33101  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3  พบว่าแบบฝึกมีประสิทธิภาพ  79.02/79.95  ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้คือ  75/75 

2.  ผลการศึกษาหาดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะเพื่อพัฒนาการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจโดยใช้เทคนิค KWL plus  พบว่านักเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นร้อยละ  69

3.  ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านก่อนและหลังเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะเพื่อพัฒนาการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจโดยใช้เทคนิค KWL plus  พบว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านสูงกว่าก่อนทดลองใช้แบบฝึกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01

4.  ผลการศึกษาความสามารถของนักเรียนในด้านทักษะการเขียนพบว่าโดยรวมเฉลี่ย

มีค่า  4.45  ซึ่งอยู่ในระดับมาก 

5. ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3  ที่มีต่อการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจโดยใช้เทคนิค KWL plus  พบว่าโดยรวมเฉลี่ยมีค่า  4.09  รวมนักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก













ที่อยู่ที่ติดต่อได้

นางสุวดี  สดแสนรัตน์   ครู  วิทยฐานชำนาญการ  โรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ  

อำเภอวารินชำราบ  จังหวัดอุบลราชธานี

:Suwadee1234@gmail.com  /  Tel  081-9997109

84  ซอยประชุมสุข  ถนนวาริน-เดช  ต. แสนสุข  อ. วารินชำราบ  จ.  อุบลราชธานี  341900



รายงานผลการใช้คู่มือการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ

ผู้รายงาน นางสาวธันยนันท์  กาทอง

ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการ โรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ อำเภอ

วารินชำราบ 

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 4



บทคัดย่อ

รายงานผลการใช้คู่มือการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 4 มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อรายงานขั้นตอนการจัดทำคู่มือการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ 2) เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของคู่มือการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมแนะแนวโดยใช้คู่มือการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ประชากรได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 4 ที่เรียนแนะแนวในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2551 จำนวน 550 คน กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/10 จำนวน 48 ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เก็บรวบรวมข้อมูลในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2551 เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ คู่มือการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 18 ชั่วโมง แบบทดสอบวัดความฉลาดทางอารมณ์ และแบบวัดความพึงพอใจของนักเรียน สถิติที่ใช้ ได้แก่ ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ผลการดำเนินการปรากฏ ดังนี้


1. ดัชนีประสิทธิผลของคู่มือการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีค่าเท่ากับ .4360 แสดงว่าการเรียนโดยใช้คู่มือการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ทำให้นักเรียนมีความฉลาดทางอารมณ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.60 


2. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมโดยใช้คู่มือการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อเสริมสร้างทักษะทางสังคมและความฉลาดทางอารมณ์โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.41